เกี่ยวกับเรา

ความเป็นมา

ย้อนกลับไปก่อนที่ศูนย์จีนศึกษาถูกก่อตั้งขึ้น  การศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เรื่องจีนเริ่มต้นขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับการเกิดกระแสเอเชียศึกษาที่เกิดขึ้นทั่วโลกอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์  การเกิดสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีนซึ่งเป็นสงครามครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียในเวลานั้น  ในปี 1967 (พ.ศ. 2510) สถาบันเอเชียศึกษา จึงถูกก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  และได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1985 (พ.ศ. 2528)

ครั้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1995 (พ.ศ. 2538) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน  นักวิชาการไทยกลุ่มหนึ่งจึงได้จัดตั้งศูนย์จีนศึกษาขึ้นในสังกัดสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ แทนโครงการจีนศึกษาที่มีอยู่เดิมโดยมีศาสตราภิชาน อำพล พรรณเชษฐ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก

ศูนย์จีนศึกษาได้ดำเนินงานวิจัยและจัดกิจกรรมบริการวิชาการด้านจีนศึกษาเรื่อยมา กระทั่งปี 2561 ศูนย์จีนศึกษาได้รับการอนุมัติจากสำนักบริหารการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้จัดตั้ง “หน่วยปฏิบัติการวิจัยจีนศึกษา (Chinese Studies Research Unit)” ขึ้น โดยมีพันธกิจ ดังนี้

  1. สร้างและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อธำรงความเป็นเลิศด้านจีนศึกษา
  2. เผยแพร่องค์ความรู้และเป็นแหล่งอ้างอิงระดับชาติและนานาชาติ
  3. สนับสนุนการเรียนการสอน และถ่ายทอดความรู้ด้านจีนศึกษา
  4. เสริมสร้างเครือข่ายวิจัยและวิชาการระดับชาติและนานาชาติ

หน่วยปฏิบัติการวิจัยจีนศึกษาได้รับทุนสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การตีพิมพ์บทความวิชาการ การนำเสนอผลงานวิชาการ เป็นต้น

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน การฝึกอบรม การวิจัยด้านจีนศึกษาในประเทศไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
  2. เพื่อบริการวิชาการด้านจีนศึกษาให้คนไทยมีความรู้-ความเข้าใจจีนดีขึ้นทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยจัดหลักสูตรอบรม สัมมนา อภิปราย สิ่งพิมพ์ สื่อมวลชนต่างๆ รวมทั้งในเว็บไซต์
  3. เพื่อสร้างฐานข้อมูล-องค์ความรู้เรื่องจีนศึกษาที่มีคุณภาพเป็นบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนในด้านต่างๆ
  4. เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับจีนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
  5. เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เรื่องจีนศึกษากับนักวิชาการเรื่องจีนศึกษาทั่วโลก

การบริหารงาน

ศูนย์จีนศึกษาเป็นหน่วยงานในสังกัดของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียฯ เป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์จีนฯ และเป็นที่ปรึกษาของศูนย์จีนฯ โดยตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์จีนฯ เป็นประธานกรรมการบริหารของศูนย์จีนฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารฯ ทำหน้าที่กำหนดแผนงานและบริหารงบประมาณการเงิน โดยมีการจัดประชุมติดตามงานภายในศูนย์จีนฯ ขึ้นเป็นประจำทุกเดือน คณะกรรมการอำนวยการศูนย์จีนศึกษา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บริษัทธุรกิจเอกชน และนักวิชาการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาศูนย์จีนฯ

นอกจากนี้ ศูนย์จีนฯ มีที่ปรึกษาและผู้อุปถัมภ์ของศูนย์ฯ จำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจให้คำปรึกษาตามสมควร ที่ปรึกษาฯ อาจเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการตามความสมัครใจ

รายนามผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา มีดังนี้

  • ศาสตราภิชาน อำพล พรรณเชษฐ์
  • รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์
  • รองศาสตราจารย์ วรศักดิ์ มหัทธโนบล
  • รองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์
  • อาจารย์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร (ปัจจุบัน)

งานบริการวิชาการ

การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านจีนศึกษานับเป็นวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของศูนย์ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว ศูนย์จีนฯ จึงมีแหล่งข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ ครอบคลุมกลุ่มผู้อ่านในวงกว้าง นับได้ว่าเป็นอีกฐานข้อมูลที่สำคัญฐานหนึ่งที่ให้บริการแก่ผู้มีความสนใจด้านจีนศึกษา