เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (วช.) และศูนย์จีนศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) โดยผู้ทรงคุณวุฒิเรื่อง “กลไกความร่วมมือไทย-จีนเชิงนโยบายเกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ภายใต้บริบท BRI” ณ ห้องประชุมย่อย ชั้น ๑ โรงแรมรามาการ์เดน ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทาง (ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) และดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร (ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กล่าวเปิดการประชุม
การนำเสนอผลการวิจัย เรื่อง “กลไกความร่วมมือไทย-จีนเชิงนโยบายเกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ภายใต้บริบท BRI” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริลักษม์ ตันตยกุล ผู้วิจัยมีคำถามการวิจัย (1) ชาวจีนโพ้นทะเลมีความสาคัญอย่างไรต่อการสร้างประชาคมชะตากรรมร่วมกันและการขับเคลื่อน BRI (2) มุมมองเชิงนโยบายของไทย ด้านเศรษฐกิจ ด้านการต่างประเทศ ด้านการศึกษาวิจัย และด้านความมั่นคง ต่อชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ภายใต้บริบท BRI เป็นอย่างไร (3) ในฐานะหน่วยงานคลังสมอง ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย จีน (วช.) ควรเสนอ กลไกความร่วมมือไทย จีนเชิงนโยบายต่อชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ภายใต้บริบท BRI ในลักษณะใด เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม (ดูรายละเอียดการนาเสนอผลงานในไฟล์ PPT )
ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร (ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ให้ข้อคิดเห็นที่สำคัญต่องานวิจัยดังนี้ ประการแรก งานวิจัยควรให้ความสำคัญกับกรอบแนวคิดเรื่องการเป็น “รัฐอารยะ” (Civilizational State) ของประเทศจีน การส่งเสริมแนวคิดดังกล่าวของผู้นำจีนนั้นแตกต่างจากมุมมองของโลกตะวันตก เพราะโลกตะวันตกมีแนวคิดเรื่องรัฐชาติ (Nation-State) แต่จีนกำลังจะผูกความเป็นชาติกับอารยธรรมแล้วผสานเป็น “รัฐอารยะ” ความน่าสนใจคือ ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and road initiative) นั้นมีมิติของอารยธรรมและวัฒนธรรมที่ชัดเจนมาก สำหรับคนจีนมีลักษณะของความเป็นเชื้อชาติที่ผูกโยงกับอารยธรรมและผูกโยงกับรัฐอารยะ
ประการต่อมา นโยบายการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ตรงเป้าหมายและมีเป้าหมายชัดเจนทางภูมิศาสตร์ ต้องถือว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยมีคนจีนโพ้นทะเลที่มาจากไหหลำ แต้จิ๋ว ฯลฯ เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจะต้องมีกลไกเป้าหมายเชิงพื้นที่ที่ตรงเป้าหมาย กลไกภาครัฐที่เป็นทางการ ต้องมองทิศทางนโยบายของภาครัฐที่จะเจาะไปยังเป้าหมายทางภูมิศาสตร์มากขึ้น คือไม่ได้มองจีนเป็นลักษณะภาพรวมทั้งประเทศเหมือนสมัยก่อน แม้กระทั่งความร่วมมือในความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and road initiative) ก็พยายามเจาะไปที่มณฑลกวางตุ้งและเสฉวนเป็นพิเศษ หรือความร่วมมือกับพื้นที่เซินเจิ้นและฮ่องกงเป็นพิเศษ แต่ภาคนโยบายเวลาที่เจรจากับทางกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็จะมีการติดต่อประสานกับจีนเป็นลักษณะภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้มีความยากทางยุทธศาสตร์ จำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ที่เจาะเชิงเป้าหมายในเชิงพื้นที่ เพราะจะทำให้วิเคราะห์ความเข้มแข็งของแต่ละพื้นที่ จุดอ่อนและจุดแข็งทางอุตสาหกรรม และสามารถความร่วมมือกับไทยได้อย่างไร เพราะฉะนั้นกลไกที่ไม่เป็นทางการที่สำคัญอย่างสมาคมการค้าซึ่งมีลักษณะของพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไหหลำ แต้จิ๋ว
ประเด็นสุดท้าย การศึกษาควรเน้นการศึกษาเชิงกรณี (case study) ยกตัวอย่างการกล่าวถึงกลไกที่ไม่เป็นทางการต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จนั้นว่ามีลักษณะอย่างไร เป็นความร่วมมือในเรื่องใด ประสบความสำเร็จเพราะเหตุใด เพราะจะช่วยให้การวิเคราะห์มีความเป็นรูปธรรม ชัดเจนมากขึ้น เพราะเวลากล่าวถึงประวัติศาสตร์ของกลไกที่ไม่เป็นทางการระหว่างไทยกับจีนนั้น ตั้งแต่ก่อนการมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน กลไกที่ไม่เป็นทางการได้เริ่มต้นมาก่อน แม้กระทั่งในปัจจุบันก็น่าจะมีหลายกรณีศึกษาที่เป็นกลไกที่เริ่มต้นโดยไม่เป็นทางการ หรือกลไกที่ไม่เป็นทางการที่นำไปสู่ความสำเร็จ กรณีศึกษาให้พิจารณา ปัจจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จ รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความล้มเหลว ทั้งช่วยให้เห็นตัวแสดง อุปสรรคต่าง ๆ ในการประสานความร่วมมือที่ไม่เป็นทางการระหว่างชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ระหว่างไทยกับจีน ภายใต้บริบทความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and road initiative) ได้ดียิ่งขึ้น
สรุปผลการประชุมกลุ่มย่อยและข้อคิดเห็นที่สำคัญต่องานวิจัยมีดังนี้
1. ประเด็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของจีนและไทยโดยใช้ความใกล้เคียงกันทางวัฒนธรรม ไทยและจีนมีความคล้ายกันในแง่ของอำนาจละมุน (soft power) นั่นคือไทยและจีนมีความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณีซึ่งเชื่อมโยงระหว่างกันและตัดกันไม่ขาด แม้กระทั่งตระกูลแซ่ต่าง ๆ ก็จะมีกลุ่มของตนเอง และอาจจะนำไปสู่สร้างเครือข่ายไม่ยาก เพราะไทยมีพื้นฐานเข้ากับจีนได้เป็นอย่างดี นั่นคือพื้นฐานของศาสนาพุทธ นอกจากนั้นคนไทยเป็นคนใจกว้าง โอบอ้อมอารี เพราะฉะนั้นการสร้างเครือข่ายจึงเป็นไปได้ดีมาก และโดยลักษณะของไทยเป็นคนพุทธจึงเข้ากันได้ง่ายมาก นอกจากนี้ หากต้องการจะทำให้ได้ตลอดในความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and road initiative) ต้องเคารพในวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา อาจจะสามารถเชื่อมต่อได้กับหลายสมาคม จึงควรทำเป็นการศึกษาเชิงกรณี (case study)
2. ประเด็นเกี่ยวกับความหวาดระแวงและการควบคุมคนต่างด้าว โดยมองว่าตอนประเทศจีนเปิดประเทศใหม่ ๆ ก็มีความรู้สึกกลัวทุนจากต่างชาติเช่นกัน รวมทั้งมีข้อจำกัดและเงื่อนไขของการเข้ามาลงทุน รัฐมีมาตรการที่สามารถควบคุมเรื่องของคนต่างด้าวได้ โดยแท้จริงแล้วประเทศเอกราชต่าง ๆ ก็มีสิทธิ์ในการวางนโยบายของตนเอง ประเทศไทยต้องมองว่าเราต้องการแบบไหน ถ้าเราเข้มแข็งเราก็ไม่กลัว แต่ถ้าเราอ่อน เราอาจจะกลัวเหมือนกับประเทศจีนช่วงแรก ๆ ที่เปิดประเทศ แต่ตอนนี้ประเทศจีนไม่กลัวแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเรายังไม่รู้ว่าต้องการอะไรและจะไปทางไหน ตรงนี้จึงเป็นปัญหา ในขณะที่ไทยต้องมองในหลายระดับ เช่น การเมืองระหว่างประเทศที่มีสหรัฐฯ ปลุกกระแส แล้วไทยกับจีนจะไปกันได้แค่ไหน ซึ่งผู้ทรงฯ มองว่าจีนมีแนวคิดที่อยากจะเป็นมิตรกับประเทศต่าง ๆ เพราะถ้าประเทศเพื่อนบ้านเป็นมิตรกับจีน จีนก็จะได้ประโยชน์ การเป็นศัตรูก็เป็นปัญหาในที่สุด
3. ประเด็นชาวจีนรุ่นใหม่ในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิได้นำเสนอว่า เนื่องเพราะตั้งแต่สมัยก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน คนจีนไม่สามารถไปต่างประเทศ ไม่สามารถออกไปลงทุน ไม่สามารถไปศึกษาเล่าเรียนหรือท่องเที่ยวได้ ใครไปถือว่าผิดกฎหมาย ภายหลังสมัยเติ้งเสี่ยวผิงปฏิรูปและเปิดประเทศแล้ว คนจีนก็ออกสู่โลกภายนอก ในปัจจุบันนี้รัฐบาลจีนสนับสนุนให้คนจีนออกไปนอกประเทศ เช่น ไปศึกษา ไปทำงาน ไปลงทุน และต้องศึกษาถึงสถานการณ์บ้านเมือง ปัจจุบันนี้คือการร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายไหม เช่น การสร้างถนนหนทาง การปรับถนน การสร้างรถไฟความเร็วสูง มุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น คนจีนที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่าและรุ่นใหม่นั้นไม่เหมือนกันคนจีนรุ่นเก่า โดยส่วนใหญ่อพยพออกมากเพราะสงครามกลางเมือง ภัยธรรมชาติ ต่างกันกับรุ่นใหม่ที่อพยพเข้ามาประเทศไทยเพราะอยากมีชีวิตดีขึ้น อยากรวย อยากขยายธุรกิจ มีเป้าหมายชัดเจน ดังนั้นที่ศึกษาในงานวิจัยจึงต้องกล่าวถึงทั้งคนจีนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ คนจีนรุ่นเก่าที่มาไทยโดยส่วนใหญ่มาจากทางภาคใต้แถบซัวเถา ฮกเกี้ยน ไหหลำ ส่วนคนจีนรุ่นใหม่ที่เข้าไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ ปัจจุบันนี้มีมาจาก เซี่ยงไฮ้ เสฉวน ปักกิ่ง เหอหนาน เหอเป่ย เหลียวหนิง ฯลฯ โดยมาจากเกือบทุกมณฑล นอกจากนั้นที่มาโดยส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีทั้งนักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน มีหลายสาขาอาชีพที่แตกต่างกัน และการที่คนจีนเข้ามาก็มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมไทย เศรษฐกิจไทย คนจีนที่เข้ามาตอนนี้ก็ต้องการมีส่วนร่วมช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลไทยต้องมีนโยบายควบคุมเกี่ยวกับการเข้ามาของคนต่างชาติ ไม่ใช่คนจีนทั้ง 1400 ล้านคนจะเข้ามาได้ ต้องมีนโยบายว่าคนแบบไหนจึงสามารถเข้ามา และทำอาชีพอะไรจึงจะเข้ามาได้ อันนี้คือกลไกหน้าที่ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ซึ่งต้องติดตามลักษณะของกลุ่มคนจีนที่เข้ามาถ้าเข้ามาลงทุนก็ต้องศึกษาการลงทุน ส่วนกลุ่มคนจีนที่ไม่ได้เข้ามาลงทุน เช่น อาจารย์ นักดนตรี ก็ควรมีนโยบายที่ให้คนเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาไทยในหลาย ๆ ด้านรวมทั้งควรต้องศึกษาสมาคมการค้าทั้งรุ่นเก่าและใหม่ สรุปแล้วการนำเสนอเชิงนโยบาย
4. ประเด็นชาวจีนรุ่นใหม่ในบริบท BRI ส่วนนี้ต้องนิยามให้ชัดเจนว่าเป็นการเข้ามาเพื่อการค้าและการลงทุน การนิยามว่าคนจีนรุ่นใหม่นั้นชัดเจนแล้วว่าเป็นคนจีนที่อพยพเข้ามาหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจและปิดประเทศ หากกล่าวถึงภายใต้บริบทของความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and road initiative) เข้าใจว่ากลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางมาด้วยวัตถุประสงค์การค้าขาย การลงทุน หรือธุรกิจ นี่จึงจะเป็นบริบทของความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and road initiative) เพราะนโยบายของจีนโดยเฉพาะความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and road initiative) มุ่งที่จะส่งเสริมคนจีนเดินทางไปค้าขายหรือทำธุรกิจ ดังนั้นโจทย์สำคัญที่ถามว่า คนจีนโพ้นทะเลนั้นสำคัญในเรื่องใด จึงมีเรื่องเดียวคือ “เศรษฐกิจ” แต่หากเป็นเรื่องอื่น ๆ อาจจะเป็นผลเสียมากกว่า เพราะปกติในกฎหมาย คือ คนต้องมีสัญชาติเดียว และวัตถุประสงค์หลักในการเดินทางก็มาด้วยการค้าขาย การลงทุน มาประกอบธุรกิจ เหตุผลนั้นน่าจะเป็นเหตุผลเดียวที่จะเข้ามาติดต่อ สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มชาวจีน ดังนั้นกลุ่มความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ แต่เป็นความสัมพันธ์เชิงภาคประชาชนที่เราติดต่อค้าขาย ทำมาหากินร่วมกัน ไม่ใช่นโยบายระหว่างรัฐ แต่หากรัฐไทยจะติดต่อค้าขายหรืออนุญาตให้มาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการตั้งถิ่นฐาน ก็ควรจะมีหลักเกณฑ์พิจารณาที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศของเรา นโยบายไทยต่อจีนโพ้นทะเลควรจะเป็นอย่างไร เรื่องแรกต้องยึดกฎหมายเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาของคนต่างชาติก่อน แต่รูปแบบของคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยนั้นมีหลากหลายมาก เช่น เดินทางท่องเที่ยว เสร็จแล้วขอต่อวีซ่าโดยเปลี่ยนรูปแบบ เช่น ตอนแรกเป็นนักศึกษา แต่เมื่อไม่อยากกลับก็ต่อขยายวีซ่าจากการเป็นนักศึกษาเพื่ออยู่อาศัยระยะยาว หรือพยายามเปลี่ยนจากวีซ่าท่องเที่ยวเป็นวีซ่าการทำงาน เป็นต้น โดยธรรมชาติแล้วคนจีนที่เข้ามาเหตุผลก็คือการทำธุรกิจ อยากมีชีวิตที่ดี พอมาเมืองไทยก็มีความสุข มีช่องทางที่จะเจริญก้าวหน้า อยากจะประกอบธุรกิจ บางคนไปเรียนหลักสูตรนักบริหาร ได้รับการลงทุนหรือมีบทบาทสำคัญในเมืองไทยเยอะมาก กลุ่มธุรกิจที่เกิดขึ้นจากคนจีนมีทั้งแบบแย่งงานคนไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจของคนไทยด้วย ความหลากหลายของนักธุรกิจที่เข้ามามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งที่ทำให้เกิดประโยชน์และไม่เกิดประโยชน์ เรื่องที่สอง คือ รัฐไทยควรจะมีนโยบายอย่างไร รัฐบาลควรจะศึกษากลุ่มให้ชัดเจน และน่าจะศึกษาเชิงกรณีศึกษาที่หลากหลาย หลายกรณีศึกษามีทั้งข้อดีและข้อเสียของคนจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาติดต่อค้าขาย การศึกษาแบบนี้จะทำให้เรามองได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่าทำไมคนจีนจึงประสบความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐานเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย การใช้กลไกความร่วมมือผ่านสมาคมต่าง ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจ ทั้งสมาคมคนจีนต่าง ๆ สมาคมมิตรภาพไทยจีน สมาคมอุตสาหกรรมไทย–จีน สมาคมการค้าไทย–จีน สมาคมวัฒนธรรมไทย–จีน สมาคมเหล่านี้รองรับช่องทางการลงทุนของคนจีน คนไทยจัดตั้งสมาคมนี้เพื่อรองรับการลงทุนค้าขายที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเรา แต่ว่ากลุ่มคนจีนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ ไม่ได้อาศัยช่องทางนี้มาเป็นกลไกในความร่วมมือ แต่เขามาลงทุนเอง และคิดว่าเป็นช่องทางทำมาหากิน โดยเดินทางมาเรียนต่อ เดินทางมาเป็นไกด์นำเที่ยว แล้วพอไม่อยากกลับก็หาทางต่อวีซ่าเพื่ออยู่ต่อ สุดท้ายหาช่องทางแต่งงานบ้าง ลงทุนบ้าง ตั้งบริษัทได้ก็มี ลักษณะของกลไกภายใต้การทำงานนี้ คนจีนเหล่านี้สามารถซื้อบ้าน คอนโดได้ และไม่เข้าสมาคมใด ๆ ทำให้ไม่สามารถร่วมมือกันได้ ข้อเสนอแนะ ถ้าไทยมีสมาคมที่ดึงคนจีนยุคใหม่เข้ามาอยู่รวมกลุ่ม และสามารถดำเนินงานเพื่อประโยชน์ร่วมกันภายใต้สมาคมต่าง ๆ ได้ ก็จะสามารถร่วมมือกันได้
5. ในมุมมองด้านความสัมพันธ์ระหว่างเมือง กองการต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเรื่อง “เมืองมิตรภาพ” (เมืองพี่เมืองน้อง) ในจำนวนเมืองมิตรภาพที่ลงนามกันจำนวน 88 คู่นั้น ฝ่ายไทยมีการลงนามกับจีนถึง 34 คู่ และในบริบท BRI ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีความกระตือรือร้นกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเมือง การพิจารณาแบ่งระดับความสำเร็จของการสถาปนาเมืองมิตรภาพ มีความสำเร็จใน 3 ระดับ คือ (1) ความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์ (2) ความสำเร็จในเชิงวัฒนธรรมและการศึกษา (3) การเชื่อมโยงและผูกพันทางเศรษฐกิจ (economic bound) ในการดำเนินงานดังกล่าว กลุ่มชาวจีนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ “สมาคมการค้า” และ “สมาคมถิ่นเดียวกัน” สามารถเข้ามาเป็นกลไกเชื่อมโยง กระชับความสัมพันธ์ระหว่างเมือง และขับเคลื่อนให้ความร่วมมือในรูปแบบเมืองมิตรภาพพัฒนาจากความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์ (มีการลงนามสถาปนาเมืองมิตรภาพ) ไปสู่ระดับการเชื่อมโยงและผูกพันทางเศรษฐกิจ อันเป็นระดับความสำเร็จที่คาดหวังในการสร้างความร่วมมือดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะหลังของการลงนามได้มีการนำแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” (smart city) มาเป็นรายละเอียดในการพัฒนาความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองไปสู่อนาคต
แหล่งที่มาจากเว็บไซต์ศูนย์ยุทธศาสตร์ไทย-จีน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช)
http://www.vijaichina.com/events/1945