วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดเวทีสาธารณะพิเศษ เรื่อง “การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างไทย-จีน” (Building a Thailand – China Community with a Shared Future) โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ตัวแทนจากแวดวงวิชาการไทยและจีน รวมถึงนักศึกษาจีนและไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มาร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ CU Social Innovation Hub
ในโอกาสนี้ ฯพณฯ นายหาน จื้อเฉียง (H.E. Han ZhiQiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แสดงปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ “มุ่งสู่ประชาคมไทย-จีนที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อเสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น” (Working Towards a Thailand – China Community with a Shared Future for Enhanced Stability, Prosperity and Sustainability)
จากนั้นได้รับเกียรติจาก ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ก้าวสู่ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน: การแสวงหาวิสัยทัศน์และทิศทางในการสร้างประชาคมไทย-จีนที่มีอนาคตร่วมกัน” (Entering 50 Years of Thailand – China Diplomatic Relations: Searching for a Vision and Direction for Building a Thailand – China Community with a Shared Future)
เวทีสาธารณะพิเศษในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “การสร้างประชาคมไทย-จีนสู่อนาคตร่วมกัน” ซึ่งดำเนินการวิจัยโดยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ อ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลการวิจัยดังกล่าว และมีการให้ข้อคิดเห็นโดยนักวิชาการไทยและจีน ได้แก่ ผศ.ดร.สืบพงศ์ ช้างบุญชู รองผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการศูนย์ไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
การวิจัยของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เรื่อง “การสร้างประชาคมไทย-จีนสู่อนาคตร่วมกัน” เป็นการทบทวนประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนำเสนอภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-จีนในหลากหลายมิติ ครอบคลุมด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างสองประเทศ การวิจัยเน้นที่วิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ความสนใจร่วมกัน ความรับผิดชอบร่วมกัน การพัฒนาร่วมกัน และความเข้าใจร่วมกัน ผู้วิจัยได้สำรวจถึงวิสัยทัศน์เหล่านี้ที่สามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีนทุกระดับและมิติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568